อบเชยเทศ
อบเชย
อบเชย ชื่อสามัญ Cinnamon, Cassia[3]
อบเชย ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum spp. จัดอยู่ในวงศ์อบเชย (LAURACEAE)[1],[3]
สรรพคุณของ ชิเนมอล หรือ อบเชย สมุนไพรอบเชย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บอกคอก (ลำปาง), พญาปราบ (นครราชสีมา), สะวง (ปราจีนบุรี), กระดังงา (กาญจนบุรี), ฝักดาบ (พิษณุโลก), สุรามิด (สุโขทัย), กระแจกโมง โมงหอม (ชลบุรี), กระเจียด เจียดกระทังหัน (ยะลา), อบเชยต้น มหาปราบ (ภาคกลาง) เป็นต้น[3]
ชนิดของอบเชย
อบเชยมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีคุณภาพที่แตกต่างกันออกไปตามสถานที่ปลูกหรือแหล่งผลิต อบเชยแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติหรือสรรพคุณทางยาที่ใกล้เคียงกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้โดยอบเชยพันธุ์ที่มีชื่อเสียงคุณภาพดีและราคาแพงที่ สุด คือ อบเชยสายพันธุ์จากศรีลังกา อบเชยสายพันธุ์จากจีนจะอ่อนที่สุด ส่วนอบเชยไทยนั้นไม่ค่อยเป็นที่นิยม เพราะเปลือกหนาและไม่หอม[3] ส่วนอีกข้อมูลระบุนั้นว่าอบเชยญวนจะมีคุณภาพสูงสุด รองลงมาคืออบเชยจีน และอบเชยเทศ ซึ่งส่วนประกอบของสารเคมีและน้ำมันระเหยแต่ละชนิดจะไม่เท่ากัน[4] อบเชยที่พบได้ในประเทศไทยนั้นมีมากกว่า 16 ชนิด แต่จะมีชนิดใหญ่ ๆ อยู่ 5 ชนิดด้วยกัน[8] ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้
- อบเชยเทศ หรือ อบเชยลังกา ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum verum J.Presl (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cinnamomum zeylanicum Blume)[3],[10] ) ชื่อสามัญ Ceylon cinnamon, True cinnamon เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่ไม่ผลัดใบ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาและหนา กิ่งขนานกับพื้นและตั้งชันขึ้น ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันตามลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ มีเส้นใบ 3 เส้น ใบค่อนข้างหนา ผิวใบเรียบเป็นมัน สีเขียมเข้ม ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีเหลืองและมีกลิ่นหอม ผลเป็นสีดำมีลักษณะคล้ายรูปไข่ ผิวเปลือกเรียบบาง หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ชนิดนี้มาจากประเทศอินเดียและศรีลังกา[3],[10] เป็นชนิดที่มีราคาแพงที่สุด[3],[8]
- อบเชยจีน ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum cassia (L.) J.Presl (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cinnamomum aromaticum Nees, Cinnamomum cassia (L.) D. Don)[4],[5] ชื่อสามัญ Chinese cassia, Chinese cinnamom, Cassia lignea, Cassia bark, False cinnamon[10] (ชื่ออื่น โย่วกุ้ย กวนกุ้ย อิกุ้ย (จีนกลาง)[4]) อบเชยชนิดนี้มีความสูงและขนาดของลำต้นใหญ่กว่าอบเชยเทศ มีเปลือกหนาหยาบกว่าและสีเข้มกว่าอบเชยเทศเล็กน้อย[3] อบเชยจีนเป็นพรรณไม้ที่พบในประเทศจีนแถบมณฑลกวงสี ยูนนาน และกวางตุ้ง โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงได้ประมาณ 10-15 เมตร เปลือกลำต้นหนาและเป็นสีเทาเข้ม มีรอยแตกตามยาว เปลือกลำต้นมีรูปรูปกลมรี เนื้อในเปลือกเป็นสีแดงเข้ม มีกลิ่นหอมและมีรสหวาน ตามกิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม ใบอบเชยจีน ใบออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหลายแหลม ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร เนื้อใบหนา มีเส้นใบตามยาว 3 เส้น หลังใบเป็นสีเขียวผิวใบเรียบมัน ส่วนท้องใบมีสีเขียมอมเทา และมีขนปกคลุมเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ส่วนดอกอบเชยจีน ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือง่ามใบ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 10-19 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ดอกเป็นสีเหลืองอมเขียว กลีบดอกคล้ายรูปหัวใจ ดอกมีกลีบดอก 6 กลีบ ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ใจกลางของดอกมีมีเกสรเพศผู้ 9 อัน และผลอบเชยจีน ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมรี ขนาดเท่าเมล็ดถั่วลันเตา ผลเมื่อสุกจะเป็นสีม่วงเข้ม[4]
- อบเชยญวน ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum loureiroi Nees (ชื่อสามัญ Cinnamon, Saigon Cinnamon, Vietnamese cassia)[2],[5] เป็นไม้ยืนต้น มีลักษณะลำต้นคล้ายคลึงกับอบเชยจีนมาก ใบเป็นใบเดี่ยวค่อนข้างบาง ลักษณะของใบเป็นรูปร่างยาวเรียว ปลายใบแหลม ดอกและผลมีขนาดเล็ก มีกลิ่นหอม แต่กลิ่นจะหอมไม่เท่ากับอบเชยเทศ มีรสหวาน[3] ชนิดนี้มีรสหวานแต่ไม่ค่อยหอม ปลูกได้ดีมากในประเทศไทย และประเทศไทยเราจะส่งออกอบเชยชนิดนี้เป็นหลัก[8]
- อบเชยชวา หรือ อบเชยอินโดนีเซีย ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum burmanni (Nees & T.Nees) Blume[5] ชื่อสามัญ Indonesian cassia, Batavia cassia, Batavia cinnamom, Panang cinnamon[10] เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดใหญ่กว่าอบเชยที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นอบเชยที่มีวางจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป แต่นิยมเรียกกันว่า อบเชยเทศ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวเรียว ปลายใบแหลม ดอกและผลมีขนาดเล็ก มีกลิ่นหอมแต่น้อยกว่าอบเชยเทศ[3] และเป็นอบเชยที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน[8]
อบเชยไทย คืออบเชยชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum bejolghota (Buch.-Ham.) Sweet (มีชื่อเรียกอื่นว่า เชียกใหญ่, จวงดง, เฉียด, ฝนเสน่หา, สมุลแว้ง, มหาปราบ ) หรือเป็นอบเชยที่ได้จากต้น “อบเชยต้น” (Cinnamomum iners Reinw. ex Blume.)[5] โดยอบเชย ต้นนั้นมีชื่อสามัญว่า Cinnamom และมีชื่อเรียกในท้องถิ่นอื่น ๆ อีกว่า บอกคอก (ลำปาง), พญาปราบ (นครราชสีมา), กระดังงา (กาญจนบุรี), สะวง (ปราจีนบุรี), ฝักดาบ (พิษณุโลก), กระแจะโมง กะเชียด กะทังนั้น (ยะลา), มหาปราบตัวผู้ อบเชย อบเชยต้น (ภาคกลาง), เขียด เคียด เฉียด ชะนุต้น (ภาคใต้), ดิ๊กซี่สอ กัวเล่ะบิ๊ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), กะพังหัน โกเล่ เนอม้า (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), เสี้ยง (ม้ง), ม้าสามเอ็น (คนเมือง), เชียด[7],[8]) อบเชยชนิดจะพบได้ในป่าเขาที่ยังอุดมสมบูรณ์หรือป่าดงดิบทั่วไปในประเทศไทย[8],[9] จัด เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-20 เมตร ทรงพุ่มกลมหรือเป็นรูปเจดีย์ต่ำ ๆ ทึบ เปลือกต้นค่อนข้างเรียบเกลี้ยงเป็นสีน้ำตาลอมเทา เปลือกและใบมีกลิ่นหอม ใบอบเชยไทย ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7.5-25 เซนติเมตร แผ่นใบหนา เกลี้ยง แข็ง และกรอบ เส้นใบออกจากโคนมี 3 เส้น ยาวตลอดจนถึงปลายใบ ด้านล่างเป็นคราบขาว ก้านใบยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ดอกอบเชยไทย ออกดอกเป็นช่อแบบกระจายที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นเหม็น ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนหรือสีเขียวอ่อน ผลอบเชยไทย ผลมีขนาดเล็ก ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผลแข็ง ตามผิวผลมีคราบขาว แต่ละมีเมล็ดเดียว ฐานรองรับผลมีลักษณะเป็นรูปถ้วย[7] (อบเชยไทยเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดระนอง [9])
ลักษณะของอบเชย
อบเชยเป็นเครื่องยาหรือเครื่องเทศที่ได้มาจากการขูดเอาเปลือกชั้นออกให้ หมด แล้วลอกเปลือกชั้นในออกจากแก่นลำต้น โดยใช้มีดกรีดตามยาวของกิ่ง แล้วนำไปผึ่งในที่ร่มสลับกับตากแดดประมาณ 5 วัน และในขณะที่ตากให้ใช้มือม้วนเอาขอบทั้งสองข้างเข้าหากัน เมื่อเปลือกแห้งแล้วจึงมัดรวมกัน โดยเปลือกอบเชยที่ดีนั้นจะต้องเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีสนิม มีความตรงและยางอย่างสม่ำเสมอ โดยยาวประมาณ 1 เมตร มีรสสุขุม เผ็ด หวานเล็กน้อย และมีกลิ่นหอมแบบเฉพาะ[5]
สรรพคุณของอบเชย
- เปลือกต้นและเนื้อไม้ มีรสเผ็ด หวานชุ่ม มีกลิ่นหอม เป็นยาร้อนออกฤทธิ์ต่อไต ม้าม และกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย ทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยกระจายความเย็นในร่างกาย ทำให้เลือดหมุนเวียนดี (เปลือกต้นและเนื้อไม้)[4]
- เปลือกต้นใช้ปรุงผสมเป็นยาหอมและยานัตถุ์ ทำให้สดชื่น แก้ปวดศีรษะ แก้อาการอ่อนเพลีย (เปลือกต้น)[1],[2],[5]
- ช่วยบำรุงดวงจิต บำรุงธาตุ ช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย (เปลือกต้น)[5],[6] ส่วนใบอบเชยต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ และบำรุงกำลัง (ใบอบเชยไทย)[6]
- รากอบเชยเทศ มีสรรพคุณช่วยปลุกธาตุให้เจริญ แก้พิษร้อน ส่วนเปลือกต้นอบเชยเทศมีสรรพคุณปลุกธาตุอันดับให้เจริญ (เปลือกต้นอบเชยเทศ,รากอบเชยเทศ)[10]
- อบเชยจีนมีรสเผ็ดอมหวาน มีฤทธิ์ร้อน ช่วยบำรุงธาตุไฟในระบบไต ตับ ม้าม และหัวใจ (เปลือกต้นอบเชยจีน)[13]
- อบเชยสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ ด้วยการใช้ผงอบเชยที่หาซื้อได้ทั่วไปที่เป็นแท่งนำมาบด โดยให้ใช้ผงอบเชยหนัก 1 กรัม ชงกับน้ำร้อน 1 ถ้วยกาแฟ ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (เปลือกต้น)[12]
- ใช้ปรุงเป็นยานัตถุ์รับประทานแก้เบื่ออาหาร (เปลือกต้น)[5] เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุ และช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกต้นอบเชยไทย)[7]
- อบเชยมีสรรพคุณช่วยทำให้ร่างกายมีความสามารถในการใช้อินซูลินเพื่อการ สันดาปกลูโคสได้ดีขึ้น อบเชยสามารถลดการดื้ออินซูลินทำให้เซลล์ต่าง ๆ นำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานให้หมดไปไม่ค้างอยู่ในเลือด สมุนไพรอบเชยจึงเหมาะสมกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สำหรับผู้เป็นโรคเบาหวาน ให้ใช้อบเชยวันละ 1 ช้อนชา หรือประมาณ 1,200 มิลลิกรัม โดยให้แบ่งการรับประทานออกเป็น 4 มื้อ ซึ่งจะได้ผงอบเชยในปริมาณ 300 มิลลิกรัม หรือมีขนาดเท่ากับแคปซูลเบอร์ 1 แต่สำหรับผู้ไม่เป็นเบาหวานสามารถกินได้วันละ 500-600 มิลลิกรัม หรือประมาณวันละ 2 แคปซูล (เปลือกของกิ่ง)[3]
- ช่วยย่อยสลายไขมัน ควบคุมระดับไขมันในเลือด และคอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) ให้มีระดับต่ำลง (เปลือกต้น)[3],[12]
- ช่วยต้านมะเร็ง เพราะมสารคลีเซอไรซินเข้มข้น (เปลือกต้น)[3],[12]
- เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด ไข้สันนิบาต แก้อาการหวัด แก้อาการไอ (เปลือกต้น)[5] เมล็ดนำมาทุบให้แตกผสมกับน้ำผึ้ง ให้เด็กกินเป็นยาแก้ไอ (เมล็ดอบเชยไทย)[7]
- รากและใบ ใช้ต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไข้เนื่องจากความอักเสบของสตรีที่คลอดบุตรใหม่ ๆ (รากและใบอบเชยไทย)[6],[8]
- ช่วยแก้ไอเย็น หืดหอบเนื่องมาจากลมเย็นกระทบ (เปลือกต้นและเนื้อไม้)[4]
- ตำรับยาแก้อาการไอหอบหืด ให้ใช้อบเชยจีน หู่จื้อ เจ็กเสี่ย เปลือกโบตั๋น อย่างละ 3-5 กรัม ซัวจูยู้ ซัวเอี๊ยะ หกเหล็ง อย่างละ 6 กรัม และเส็กตี่ 12 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน หรือทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนรับประทาน (เปลือกต้นอบเชยจีน)[4]
- เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาหอม แก้ลมวิงเวียน (เปลือกต้น)[6] ส่วนใบสามารถนำมาปรุงเป็นยาหอม แก้ลมวิงเวียนได้เช่นกัน (ใบอบเชยไทย)[6],[8]
- ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เปลือกต้น)[5]
- รากใช้ปรุงเป็นยาแก้อาการปวดฟัน (รากอบเชยไทย)[8]
- เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาน้ำ แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ช่วยขับผายลม อาหารไม่ย่อย (เปลือกต้น)[1],[2],[4],[5],[6] ส่วนใบใช้ปรุงเป็นยาหอมแก้จุกเสียดแน่นท้องและลงท้อง (ใบอบเชยต้น)[6%